ทัวร์อินเดียได้พาคุณๆไปชมมา 2 ภูมิภาคทั้งทางตะวันออกและทางใต้แล้ว ก็ได้ชมทั้งความเป็นเมือง และทิวทัศน์ของภูเขา มาคราวนี้ทัวร์อินเดียจะพาคุณไปชมความสวยงามของทะเลทรายและถ้ำกันบ้าง ถ้าคุณพร้อมแล้ววันนี้เราจะไปคุณไปรู้จักกับภาคตะวันตกของอินเดียกัน เพราะภาคตะวันตกนี้เป็นที่ตั้งรัฐราชสถาน ดินแดนของมหาราชา และทะเลทรายของอินเดีย แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เมืองชัยปุระ ราชธานีที่เคยรุ่งเรืองในอดีตของพวกราชปุต ปัจจุบันความเจริญสมัยใหม่ของภูมิภาคนี้อยู่ที่เมืองมุมไบ เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดเป็นศูนย์กลางการค้า และพาณิชย์ที่สำคัญที่สุดของอินเดีย เลาะชายฝั่งทะเลลงไปเป็นเมืองกัว (Goa) เมืองตากอากาศชายทะเลที่เคยเป็นเมืองในปกครองของโปรตุเกสมาก่อน นอกจากนั้นยังมีถ้ำอชันตา (Ajanta Cave) ศาสนสถานของศาสนาพุทธ อยู่ในเทือกเขาวินธัย (Vindhya mountains) ถ้ำนี้เกิดจากฝีมือมนุษย์สกัดหินแกรนิต จนเป็นหลืบโพรงเพื่อสร้างพุทธสถานในถ้ำมีภาพเขียนสีพุทธประวัติ ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกแห่งหนึ่งของอินเดีย
· ชัยปุระ (Jaipur)
ชัยปุระ หรือนครแห่งชัยชนะ เป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถาน คนอินเดียเรียกเมืองนี้ว่า ไจปูร์ หรือไจเปอร์ ท่านมหาราชา ไสว ชัย สิงห์ ที่ 2 (Sawei Jai Singh II) เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1728 เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ออกแบบวางผังเมืองได้สวยงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง คือ พระราชวังแอมเบอร์ ซึ่งเป็นป้อมปราการด้วย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Amber Fort กับพระราชวัง สายลม
ชัยปุระเป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถาน ได้ชื่อว่า นครสีชมพู (Pink City) เพราะในสมัยที่มหาราชา ราม สิงห์ เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองชัยปุระ เวลานั้นอินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1853 เจ้าชายมกุฎราชกุมารของอังกฤษเสด็จประพาสเมืองชัยปุระมหาราช ราม สิงห์ สั่งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทาสีบ้านเรือนด้วยสีชมพู (อมส้ม) ทั้งเมืองเพื่อถวายาการต้อนรับ ชัยปุระจึงได้ชื่อว่านครสีชมพูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จุดเด่นของการท่องเที่ยวในชัยปุระ คือการขี่ช้างจากสถานีช้างเพื่อขึ้นไปยังป้อมปราการแอมเบอร์ เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นของนักท่องเที่ยว ช้างตัวใหญ่สามารถรับผู้โดยสารได้คราวละ 4 คน พาเดินขึ้นไปบนป้อมปราบที่อยู่บนเนินสูง ส่วนขากลับนั้นช้างเดินตัวเปล่ากลับลงมา เพราะนักท่องเที่ยวใช้บริการรถจิ๊ปเล็กที่แล่นลงเนินอย่างรวดเร็วทันใจแทนช้าง
ป้อมปราการ แอมเบอร์ (Amber Fort) เป็นป้อมปราการที่มหาราชา ไสว ชัย สิงห์ ที่ 2 ทรงสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันข้าศึกไม่ให้มารุกรานได้โดยง่าย ในยุคที่จักรวรรดิโมกุลเรืองอำนาจ ป้อมปราการแอมเบอร์เป็นราชธานีของพวกราชปุตอยู่นาน เนื่องจากตั้งอยู่บนภูเขาอันเป็นทำเลที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ครั้นจักรวรรดิโมกุลเสื่อมอำนาจ พวกราชปุตจึงย้ายลงมาตั้งเมืองอยู่ในหุบเขาข้างล่าง และตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า ชัยปุระ
เมืองชัยปุระนั้นต่างจากกรุงเดลี และอัคระเพราะเป็นเมืองที่ค่อย ๆ เจริญ และยิ่งใหญ่ขึ้นตามลำดับ ด้วยพระปรีชาของมหาราชา ไสว ชัย สิงห์ ที่ 2 พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เฉลียวฉลาด ได้ชักชวนช่างฝีมือผู้มีความเชี่ยวชาญในวิชาการแขนงต่าง ๆ มาอยู่ที่ชัยปุระ เพราะต้องการให้ประชาชนได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ชัยปุระจึงเป็นที่ชุมนุมศิลปิน และช่างฝีมือผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงศิลปะต่าง ๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน
ชัยปุระเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น เครื่องใช้ทองเหลือง เครื่องประดับ ผ้าทอ แกะสลักหิน เครื่องปั้นดินเผา กระดาษสา และเครื่องหนังที่ทำจากหนังอูฐ
มหาราชา ไสว ชัย สิงห์ ที่ 2 ทรงได้รับการยกย่องไม่เฉพาะทางด้านการปกครอง และการทหารเท่านั้น พระองค์ยังมีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์ด้วย จนได้รับขนานพระนามว่า “นิวตัน แห่งบูรพา” ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ทรงสร้างไว้ที่เมืองชัยปุระและเมืองอื่น ๆ คือ หอดูดาวที่มีชื่อเสียงคือ หอดูดาว Jantar Mantar เป็นที่สังเกต และติดตามการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนท้องฟ้า
พระราชวังแอมเบอร์ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมอินเดียกับเปอร์เซีย ห้องต่าง ๆ ในพระราชวังตกแต่งด้วยการแกะสลักลวดลายเครือเถา และฝังกระจกเงาชิ้นเล็ก ๆ ลงไปในเนื้อหินกระจกเหล่านี้ ช่วยเสริมแต่งความงามของห้อง เช่น เมื่อจุดประทีปโคมไฟ กระจกสะท้อนแสงไฟน่าดูมาก ถ้าพื้นห้องปูด้วยพรมแดง เพดานห้องเป็นสีแดง ถ้าผ้าม่านเป็นสีเขียว ผนังห้องที่ประดับกระจกเงาจะสะท้อนสีพรมทำให้เพดานห้องเป็นสีแดง ถ้าผ้าม่านเป็นสีเขียว ผนังห้องที่ประดับกระจกตามลายเครือเถาก็จะสะท้อนสีผ้าม่าน ทำให้ผนังเป็นสีเขียวเหมือนผ้าม่านไปด้วย
พระราชวังสายลม (Palace of the Wind หรือ Hawa Mahal) เป็นวังเดิมที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง พระราชวังเป็นอาคาร 5 ชั้น สร้างด้วยหินทรายสีออกแดงคล้ายสีปูนแห้ง เป็นผลงานสถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซียกับโมกุล มีลักษณะแตกต่างจากพระราชวังโบราณอื่น ๆ ในอินเดีย การก่อสร้างเน้นที่ความบอบบาง โปร่งเบา มากกว่าความแน่นหนาแข็งแรง
การไปชมพระราชวังสายลมนั้นต้องเดินไปในตลาด วังนี้ตั้งอยู่ริมถนนกลางเมือง อยู่ชิดถนนจนต้องแหงนหน้ามองจึงจะเห็นพระราชวังได้ชัดเจน จุดชมวังที่ดีที่สุด คือข้ามถนนไปยืนดูจากฝั่งตรงกันข้าม ที่สวยเด่นคือลวดลายฉลุตามหน้าต่าง ด้านหน้าของพระราชวังสายลม ลายฉลุเหล่านี้ คือ ช่องระบายอากาศที่บรรดานางสนมในวังใช้เป็นที่แอบดูชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนในตลาด พระราชวังสายลมมีความงามที่แตกต่างไปจากพระราชวังอื่น ๆ ในอินเดีย นักท่องเที่ยวจะเห็นรูปพระราชวังสายลมอยู่ในหนังสือนำเที่ยวเมืองชัยปุระเสมอ
· มุมไบ (Mumbai) คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ได้ชื่อว่าเป็น Gateway of India ด้วยความเป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดของอินเดีย เดิมชื่อ บอมเบย์ เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นมุมไบเมือปี ค.ศ. 1995 นี้เอง มุมไบเป็นเมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) รัฐที่อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศเป็นเมืองท่าสำคัญของประเทศ เป็นศูนย์กลางการค้า และพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ทั้งเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัยเต็มไปด้วยตึกระฟ้า ตึกกระจก และมีโรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานสิ่งทอ และผลิตเคมีภัณฑ์ นอกจากนั้น มุมไบยังมีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์อินเดีย
อนุสาวรีย์ของศรีวาจิ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1961 เป็นจุดเด่นของเมือง อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อยกย่องวีรบุรุษชาตินิยมชาวฮินดู ผู้ต่อสู้กับกษัตริย์ของราชวงศ์โมกุลอย่างกล้าหาญ อนุสาวรีย์อยู่ใกล้กับโรงแรมทัชมาฮาล อาคารสมัยใหม่ที่ขอยืมชื่อมาจากทัชมาฮาล ไข่มุกแห่งอัคระ
· สารนาถ
สารนาถเป็นเมืองบริวารของพาราณสี ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร เมืองสารนาถเป็นเมืองสำคัญของศาสนาพุทธ เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประธานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่บริเวณสวนกวาง หรือ ป่าอิลิปตนมฤคทายวัน สารนาถเป็น 1 ในสังเวชนียสถาน 4 แห่ง ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นจุดหมายปลายทางของชาวพุทธที่มาเที่ยวอินเดียในเส้นทางสายธรรมยาตราเพื่อตามรอยพระพุทธองค์ ปัจจุบันมีพุทธบริษัทจากไทย จีน ญี่ปุ่น และบางประเทศในเอเชียอาคเนย์ไปเยือนกันมาก
ศาสนสถานในสารนาถถูกทำลายไปเกือบหมดในสมัยที่สุลต่านแห่งเดลีครองอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1194 แต่ซากโบราณสถานที่เหลืออยู่ได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดี อนุสรณ์สถานที่สำคัญในสารนาถนอกจากพระสถูปเจดีย์สำคัญ ๆ ที่มีอยู่หลายองค์แล้ว ยังมีบางส่วน ของ “จารึกอโศก” ซึ่งในอดีตเป็นเสาสูงถึง 15 เมตร อายุมากกว่า 2,000 ปี หลงเหลืออยู่
พิพิธภัณฑ์ที่สารนาถเป็นที่เก็บรักษาหัวสิงห์ (Lion – capital) ที่เคยอยู่บนยอดเขาเสาจารึกอโศก ปัจจุบันสิงโตเป็นสัตว์ที่อยู่ในตราแผ่นดิน ซึ่งเริ่มใช้ในอินเดียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นปีที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ตราแผ่นดินอินเดียประกอบด้วยสิงโต 4 ตัวหันหลังชนกัน หันหน้าเผชิญกับทิศทั้งสี่ สิงโตยืนอยู่บนฐานที่มีสัตว์อื่น ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว และสิงโตตัวเล็ก เป็นบริวารด้านหน้าเป็นตราพระธรรมจักร ในอินเดีย สิงโต เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ และความลำพอง ที่ผนังด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้ง“ธรรมจักร”ตรงกลางประดิษฐานภาพพระพุทธองค์ปางสมาธิ
· ขชุราโห (Khajuralho)
เมืองขชุราโหเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ในจังหวัดฉัตรปุระ รัฐมัธยมประเทศของอินเดีย สิ่งสำคัญที่ทำให้ขชุราโหมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก คือเมืองนี้เป็นที่ตั้งของหมู่วิหารของศาสนาเชน และศาสนาฮินดู ที่สร้างด้วยหินทราย มีอายุมากกว่าพันปีเศษ กับภาพแกะสลักตำนานกามสูตรรอบ ๆ ตัววิหาร ปัจจุบันหมู่วิหารเหล่านี้ยังอยู่ในสภาพดีสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมอินเดียสไตล์อินโด – อารยัน
เมืองขชุราโห เดิมนั้นเป็นราชธานี ของพวกราชปุต ราชวงศ์จันเดลลา หรือจันเดลละ ซึ่งมีอำนาจปกครองอินเดียตอนกลางระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-14 โดยกษัตริย์ผู้เป็นต้นราชวงศ์นี้ พระนามว่า พระเจ้านันทุกะ จันเดลละ และกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้คือ พระเจ้า หัมมิวรมัน อาณาจักรของราชวงศ์จันเดลละ เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าธังคะ กษัตริย์ในราชวงศ์จันเดลละเริ่มสร้างวิหารอุทิศถวายแด่พระกฤษณะ (พระวิษณุ) และพระศิวะ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 950 เรื่อยมา โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างวิหารก็คือ เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะจากการทำสงคราม หมู่วิหารเมืองขชุราโหส่วนใหญ่สร้างในสมัยพระเจ้าธังคะนี้เอง ในอาณาเขตที่ราชวงศ์จันเดลละมีอำนาจปกครองอยู่
หมู่วิหารที่เมืองขชุราโห ยังคงมีสภาพดีอยู่แม้เวลาจะผ่านไปนับพันปีแล้ว รอบวิหารโบราณเหล่านี้ประดับด้วยภาพหินแกะสลักนับเป็นพัน ๆ ภาพ วิหารกันทาริยา มหาเทพ ซึ่งเป็นวิหารที่ยิ่งใหญ่ และมีชื่อเสียงมากที่สุดนั้น สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ จัดว่าเป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของโลก อันที่จริง เมืองขชุราโหไม่ได้มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องหมู่วิหารศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู และเชนเท่านั้น หากแต่มีชื่อเสียง และเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว เพราะภาพแกะสลักที่ประดับรอบ ๆ วิหารศิลาคือ “กามาสูตร” อันลือลั่นไปทั่วโลกนั่นเอง วิหารหมู่ที่เมืองขชุราโหถูกทอดทิ้งให้อยู่ในป่ารกทึบเป็นเวลานานนับพันปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1838 นายทหารวิศวกรชาวอังกฤษชื่อ เบิร์ต ไปพบเข้าโดยบังเอิญ หลังจากนั้น ทางการอินเดียได้เข้าไปสำรวจ และใช้เวลานานถึงร้อยปีเศษทำการฟื้นฟูสภาพหมู่วิหาร และเส้นทางคมนาคมไปยังเมืองขชุราโห